• ปรับขนาด
    ตัวอักษร
 
แหล่งท่องเที่ยว
วัดป่าลิไลยก์

     วัดป่าลิไลยก์  ตั้งอยู่ ณ ตำบลเลม็ด  อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี   ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด  พิจารณาจากรูปแบบศิลปกรรม  ของใบเสมาหินทรายสีแดงแกะสลัก  สันนิษฐานว่าคงเป็นวัดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น           

 

โบราณวัตถุที่สำคัญของวัดป่าลิไลยก์ได้แก่           

          ๑.  ใบเสมา  ทำจากหินทรายสีแดง  แกะสลักลวดลายนูนสูง  จำนวน  ๘  ใบ  ปักอยู่รอบอุโบสถ  ขนาดสูงประมาณ  ๗๔  เซนติเมตร  กว้าง  ๓๗  เซนติเมตร  หนา ๑๒.๕๐  เซนติเมตร  อยู่บนฐานเสมาก่อิฐถือปูนลักษณะเป็นฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง  เหนือฐานสิ่งห์ทำเป็นฐานบัวจงกลหรือบัวแวงรองรับใบเสมา  ลักษณะฐานเสมาแบบนี้นิยมทำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ส่วนใบเสมาแกะสลักเป็นรูปดอกไม้เทศ  คล้ายดอกพุดตานผสมผสานด้วยรูปใบไม้และดอกไม้สี่กลีบหรือลายประจำยาม  ตามร่องประดับกระจกสีต่างๆ  บางแผ่นสลักรูปสัตว์  สอดแทรกอยู่ภายในลายดอกไม้  เช่น  รูปลิง  ลักษณะการแกะสลักแสดงถึงฝีมือช่างชั้นสูง  รายละเอียดของดอกไม้แลดูลอยเด่นชูช่อ  มีชีวิตจิตใจ  รูปแบบศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ลักษณะคล้ายกับลวดลายปูนปั้นลายพันธ์พฤกษาที่นิยมปั้นประดับอุโบสถในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณรัชกาลที่  ๑-๓  ใบเสมาทั้ง  ๘  แผ่น สลักลวดลายคล้ายๆกัน  แต่ไม่เหมือนกันเสียที่เดียว  บางแผ่นลาย  ด้านหน้ากับด้านหลังก็ไม่เหมือนกัน           

  

          ๒.  อุโบสถ  เดิมเป็นอุโบสถไม้  ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนเมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๑๗  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป  ๔  องค์  อยู่บนฐานชุกชี  ลักษณะพระพักตร์ของพระพุทธรูปทั้งหมดถูกซ่อมแซมใหม่จนหมดเค้าเดิมแล้ว                          เป็นที่น่าสังเกตว่าศิลปกรรมที่เมืองไชยา  มีฝีมือในการแกะสลักหินมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  ๑๒-๑๓  เห็นได้จากการจำหลักพระพุทธรูปศิลาศิลปะทวารวดี  พระโพธิสัตว์  ศิลปะศรีวิชัย  ลงมาจนถึงพระพุทธรูปหินทรายสีแดงศิลปะอยุธยาจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ยังพบงานสลักหินดังเช่นใบเสมาที่วัดนี้ซึ่งแสดงถึงฝีมือช่างชั้นสูง  ในขณะที่ประติมากรรมร่วมสมัยในจังหวัดอื่นๆ  มักนิยมใช้งานปูนปั้นหรือแกะสลักไม้เป็นพื้นจึงอาจกล่าวได้ว่างานแกะสลักหิน  เป็นภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองไชยา